top of page

ประวัติการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกบาลี

          การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี เป็นการศึกษาพระพุทธศาสนาในภาคภาษาบาลี ซึ่งเป็นการศึกษาพระปริยัติธรรมที่มีมาแต่โบราณ เนื่องด้วยว่า พระไตรปิฎกหรือคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาในโบราณนั้นนิยมจารึกด้วยภาษาบาลีคณะสงฆ์จึงจัดให้มีการเรียนการสอนในภาคภาษาบาลี เพื่อให้พระภิกษุ สามเณร มีความรู้ ความเข้าใจภาษาบาลี อย่างถ่องแท้ กว้างขวางและลึกซึ้ง เพราะความรู้ภาษาบาลีเป็นเสมือนหนึ่งกุญแจไขพระไตรปิฎกเพื่อศึกษาคำสอนขององค์พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า และกอปรกับว่าในยุคสมัยต้น ๆ ที่คณะสงฆ์จัดให้มีการศึกษาพระปริยัติธรรม ยังไม่ได้กำหนดหนังสือเรียนที่เป็นภาษาไทย อีกทั้งคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาที่เป็นภาษาไทยก็ยังไม่มีแพร่หลาย จึงปรากฏว่าการศึกษาพระปริยัติธรรมในสมัยนั้น มีเฉพาะแผนกบาลี โดยกำหนดระดับการศึกษาไว้  ๓ ชั้น คือ ชั้นบาเรียนตรี ชั้นบาเรียนโท และชั้นบาเรียนเอก และการสอบความรู้อันเป็นการวัดผลการเรียนเพื่อเลื่อนชั้นประโยค ที่เรียกว่า “สอบความรู้บาลีสนามหลวง” ก็ใช้วิธีสอบแปลด้วยปากเปล่าต่อหน้าคณะกรรมการ เมื่อพระภิกษุ สามเณรรูปใด สามารถแปลสอบผ่านประโยคบาลีได้ในระดับชั้นที่คณะกรรมการกำหนดก็จะได้เป็นบาเรียนตามภูมิรู้ในชั้นนั้น ๆ โดยการสอบความรู้พระปริยัติธรรมแผนกบาลียังคงใช้วิธีสอบแปลด้วยปากเปล่า เป็นลำดับมาจนกระทั่งถึง พ.ศ. ๒๔๕๙ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ (พ.ศ. ๒๔๕๓ - ๒๔๖๘) จึงได้ยกเลิกการสอบความรู้บาลีด้วย

          ในปี พ.ศ. ๒๕๐๖  มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายได้จัดการศึกษาบาลีศึกษาขึ้น โดยจัดให้กลุ่มเป้าหมาย คือ แม่ชี มีทั้งหมด ๙ ชั้น ใช้หลักสูตรเดียวกับพระสงฆ์ และ สามารถเรียนร่วมกับพระสงฆ์ได้ มหามกุฏราชวิทยาลัยเป็นเพียงสถานที่จัดสอบและรับรองผลการศึกษาบาลีของแม่ชีเท่านั้น ไม่ได้อยู่ในกำกับของแม่กองบาลีของมหาเถรสมาคมเหมือนการศึกษาของคณะสงฆ์  ดังนั้นแม่ชีจึงไม่ได้สอบรวมกับพระสงฆ์ แม่ชีที่เรียนบาลีรุ่นแรกมีจำนวน ๑๒ รูป ใน ๑๒ รูปนั้น ไม่มีแม่ชีที่เรียนสำเร็จตามหลักสูตรบาลีชั้นที่ ๙  มีเพียงแม่ชีที่สอบผ่านบาลีชั้นที่ ๖ เท่านั้น ในปี พ.ศ. ๒๕๒๙  มีแม่ชีสำเร็จบาลี ชั้นที่ ๙ เพียง ๑ รูปเท่านั้น นับเป็นเวลา ๒๓ ปีจึงมีแม่ชีสำเร็จการศึกษา หลังจากนั้นมีแม่ชีสำเร็จบาลีศึกษา ๙ ประโยค อย่างมากที่สุดปีละ ๒ รูปเท่านั้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๖ ถึง ๒๕๕๔ รวมเวลา ๔๙ ปี ปัจจุบันมีแม่ชีสำเร็จบาลีศึกษา ๙ ประโยค ในประเทศไทยรวมทั้งหมด ๒๐ รูป


          มหามกุฏราชวิทยาลัยรับรองการศึกษาบาลีของแม่ชีด้วยการออกประกาศนียบัตรและพัดเกียรติยศให้เป็นไปตามแบบคณะสงฆ์ แต่การมอบประกาศนียบัตรและพัดเกียรติยศของแม่ชี มีความแตกต่างกัน มีรายละเอียดดังนี้ บาลีศึกษา ๓ บาลีศึกษา ๖ และบาลีศึกษา ๙ ได้รับพัดเกียรติยศ พร้อมประกาศนียบัตร ใน ๓ ประเภทนี้ มีส่วนแตกต่างคือ บาลีศึกษา ๓ และ ๖ นั้น รับประกาศนียบัตรและพัดเกียรติยศจากสมเด็จพระสังฆราช สำหรับบาลีศึกษา ๙ ได้รับพัดเกียรติยศจากพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาทินัดดามาตุ พระองค์เสด็จประทานพัดเกียรติยศแก่แม่ชีที่สำเร็จบาลีศึกษา ๙ ประโยค ครั้งแรกในประวัติศาสตร์แห่งการศึกษาภาษาบาลีของแม่ชีไทยใน พ.ศ. ๒๕๒๙ ที่ตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยในส่วนของบาลีศึกษา ๑-๒, ๓, ๔, ๕, ๖, ๗, ๘ รับเฉพาะประกาศนียบัตรจากสมเด็จพระสังฆราชหรือผู้แทนสมเด็จพระสังฆราช ถึงแม้แม่ชีจะได้รับการศึกษาภาษาบาลีเหมือนพระภิกษุสามเณร แต่ก็มีส่วนหนึ่งที่ไม่เหมือนกันคือ ภิกษุสามเณรที่เรียนจบประโยค ๙ นั้น ได้รับนิตยภัตร (เงินเดือน) จากรัฐบาลโดยผ่านสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำหรับแม่ชีที่จบบาลีศึกษา ๙ ประโยค ไม่ได้รับนิตยภัตรเช่นนั้น ทั้งนี้ เพราะการศึกษาภาษาบาลีของคณะสงฆ์ได้รับการรับรองโดยมีพระราชบัญญัติ พ.ศ. ๒๕๒๗ ในมาตรา ๓ ว่า “วิชาการพระพุทธศาสนาหมายความว่า วิชาการซึ่งจัดให้พระภิกษุสามเณรศึกษาตามหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและแผนกบาลีสนามหลวง” ในช่วงที่มีพระราชบัญญัติรับรองการศึกษาของคณะสงฆ์นั้น แม่ชีได้รวมกันก่อตั้งมูลนิธิสถาบันแม่ชีไทยแล้ว

          ใน พ.ศ. ๒๕๔๓  มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยได้รับรองการศึกษาภาษาบาลีของแม่ชี เป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรของมหาวิทยาลัยให้ผู้เรียนมีวุฒิสอดคล้องกับการศึกษาภาษาบาลีของคณะสงฆ์ ผู้สำเร็จการศึกษาบาลี ๕ ประโยค เข้าเรียนต่อในระดับปริญญาตรี  ผู้สำเร็จการศึกษาภาษาบาลี ๙ ประโยค เข้าเรียนต่อในระดับปริญญาโทของมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง คือมหามกุฏราชวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้ มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่ง ได้สนับสนุนการเรียนการสอนภาษาบาลีให้แก่แม่ชีโดยใช้หลักสูตรเหมือนของพระสงฆ์ทุกประการ ให้ใช้อักษรย่อ บ.ศ. ซึ่ง มาจากคำเต็มว่า “บาลีศึกษา” เช่น “บาลีศึกษา ๓” เป็นต้น การศึกษาภาษาบาลีของแม่ชีไทยนั้น เรียนสำนักเรียนเดียวกับพระสงฆ์ แม่ชีอยู่ในจังหวัดใดก็เรียนร่วมกับพระสงฆ์ อาจารย์สอนเป็นพระสงฆ์ หลักสูตรเดียวกับพระสงฆ์ เพียงแต่สอบคนละแห่งเท่านั้น

โรงเรียนปริยัติสามัญวัดมหาธาตุ

โรงเรียนปริยัติสามัญวัดมหาธาตุ จังหวัดเพชรบูรณ์

เป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรม  แผนกสามัญศึกษา

สังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

เปิดทำการเรียนการสอนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย

ตั้งแต่วันที่   21  พฤษภาคม  พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา

ติดต่อ

29 วัดมหาธาตุ พระอารามหลวง

ถ.นิกรบำรุง ต.ในเมือง อ.เมืองเพชรบูรณ์

จ.เพชรบูรณ์  รหัสไปรษณีย์ 67000

โทร : 08-9642-8287

E-Mail : taratipvaravichayo@gmail.com

© 2023 by HARMONY. Proudly created with Wix.com

bottom of page